ความท้าทายและอุปสรรค ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

06 มกราคม 2568
ความท้าทายและอุปสรรค ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น กำลังเผชิญความท้าทายและอุปสรรค

ในบทความ PIERspectives “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจ : ตอนที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เขียนโดยกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และ ศ. ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย กฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐ และทางด้านสังคม

เมื่อมาพิจารณาความท้าทายและอุปสรรค ทางด้านเศรษฐกิจ จะพบว่า ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากยังไม่มีการใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing measures) ปัญหา fossil-fuel lock-in การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เงินลงทุนที่สูงและภาคธุรกิจบางส่วนขาดเงินทุน ราคาของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการลด ดักจับ หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกยังค่อนข้างสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ การขาดมาตรการกำหนดราคาคาร์บอน ทำให้ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าใน (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีการระบุเกี่ยวกับระบบซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และภาษีคาร์บอนไว้ แต่ปัจจุบันเนื่องจาก (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังไม่มีผลบังคับใช้

ขณะที่ประเทศไทยจึงยังไม่มีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทางกรมสรรพสามิตจึงแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีนํ้ามัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน เพื่อไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน โดยกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทางกรมสรรพสามิตหวังว่าภาษีคาร์บอนจะช่วยสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในการคำนึงต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนปัญหา fossil fuel lock-in หรือ carbon lock-in อาจส่งผลทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่าล่าช้าหรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาประเภทนี้เกิดจากการที่โครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น แท่นขุดเจาะนํ้ามัน โรงกลั่นนํ้ามัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ยังคงถูกใช้งานอยู่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีอายุโครงการค่อนข้างยาว ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ในทันทีถึงแม้ว่าจะมีทางเลือกอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่ากว่าก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ บางธุรกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ในลักษณะเช่นนี้อยู่ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทางเลือกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจึงล่าช้าหรือยังไม่เกิดขึ้น จากงานศึกษาของUnruh (2002)และTrencher & Asuka (2020)พบว่าปัญหา carbon lock-in ทำให้เกิดความเสี่ยงหลายประการต่อภาคพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการละเลยเทคโนโลยีทางเลือก การขัดขวางการส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง การจำกัดนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และการบิดเบือนสภาพเศรษฐกิจ

อีกทั้ง ธุรกิจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานศึกษาของ Foda & Vaziri (2022)และ Creagy (2024) พบว่า ธุรกิจที่เผชิญข้อจำกัดทางการเงิน อาจมีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed assets) ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น การผ่อนคลายหรือปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

จากการประมาณการโดย Creagy (2024)การลงทุนในเทคโนโลยีและแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ใน Nationally Determined Contribution (NDC) ต้องใช้เม็ดเงินสนับสนุนประมาณ 5-7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันต้นทุนเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ค่อนข้างสูง เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลทำให้ธุรกิจไม่ลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานศึกษาของGillingham & Stock (2018)ชี้ให้เห็นว่า มาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน มาตรการในลักษณะของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะมีต้นทุนที่ติดลบหรือสามารถช่วยธุรกิจในการประหยัดต้นทุน ในขณะที่มาตรการประเภทการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (dedicated-battery electric vehicle subsidies) จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่การใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ในโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเหล็ก มีต้นทุนส่วนเพิ่มที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจยังไม่จูงใจให้ธุรกิจลงทุนในเทคโนโลยีประเภท CCS ในปัจจุบัน


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.